หลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เป็นปีแห่งการ "รุกระบบราง" ของ สปป.ลาวอย่างจริงจัง
ด้วยความเป็น "Land Lock" หรือประเทศที่ไม่มีทางออกทางทะเล จึงจำเป็นอย่างมากที่ประเทศนี้ต้องดิ้นรนพัฒนาประเทศก่อนเป็นประชาคมอาเซียนโดยสมบูรณ์ เพื่อผลักดันตนเองไม่ให้เป็นตัวถ่วงของภูมิภาค

ทางการ สปป.ลาวได้อนุมัติให้มาเลเซียศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการรถไฟมาเป็นเวลาหลายปี เพื่อการก่อสร้างรถไฟรางคู่เชื่อมต่อระหว่างประเทศ สปป.ลาวกับเวียดนาม โดยเส้นทางระหว่างแขวงสะหวันนะเขตของลาวกับเมืองลาวบาวทางตอนกลางของเวียดนาม ซึ่งมีต้นสายทางทิศตะวันออกอยู่ที่ท่าเรือน้ำลึกหมีถวี (My Thuy) เมืองดงห่า (Dong Ha) เมืองเอกของจังหวัดกว๋างจิ (Quang Tri) ในเวียดนาม และปลายทางทิศตะวันตกอยู่ที่ชายแดน สปป.ลาว-ไทย (สะหวันนะเขต-มุกดาหาร) โดยมีวัตถุประสงค์ต้องการเชื่อมต่อเข้ากับระบบรถไฟของไทย และในอนาคตจะสามารถเชื่อมต่อเข้ากับระบบรถไฟในเมียนมาร์ได้ด้วย มีกำหนดการจะเริ่มก่อสร้างภายในปี 2558 นี้ และมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2561

วีโอเอ ภาษาลาว รายงานถึง โครงการก่อสร้างทางรถไฟระยะทาง 220 กิโลเมตร มูลค่าราว 5,000 ล้านดอลลาร์จากเมืองไกสอน พมวิหาน แขวงสะหวันนะเขต ไปยังด่านชายแดนลาว ซึ่งล่าสุดโครงการรถไฟเชื่อมต่อ สปป.ลาว-เวียดนามได้ออกแบบก่อสร้างเสร็จแล้ว และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 30 เดือนข้างหน้านี้ (ราว 2 ปีครึ่ง)

โครงการดังกล่าวก่อสร้างขึ้นภายใต้ระบบสัมปทานแบบ BOT (Build-Operate-Transfer) เป็นรูปแบบที่เอกชนผู้รับสัมปทานเป็นผู้ออกแบบ-ก่อสร้าง-บริการจัดการ ซึ่งโครงการนี้ลงทุนโดยกลุ่ม "Giant Consolidated Limited" จากมาเลเซียผ่านบริษัท Giant Rail Company Limited (Lao PDR) บริษัทลูกใน สปป.ลาว

ระบบรถไฟนี้มีขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร เป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางรถไฟ "กระดูกสันหลังในการคมนาคมขนส่ง" ที่เชื่อมไทย-ลาว และเวียดนาม แต่ทางรถไฟส่วนที่ทอดจากลาวมาไทยยังไม่มีความคืบหน้าในการก่อสร้าง


นอกจากนี้ โครงการรถไฟข้างต้นยังอยู่ภายใต้แผนแนวระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (East West Economic Corridor-EWEC) หรือที่เรียกว่า เส้นทางหมายเลข 9 (R9) EWEC ที่มีระยะทางยาว 1,450 กิโลเมตร ซึ่งส่วนที่อยู่ในเขตไทยเป็นระยะทางยาวที่สุดราว 950 กิโลเมตร โดยเส้นทาง R9 เริ่มจากเมืองท่าดานังของเวียดนามผ่านเมืองเว้และเมืองลาวบาว อันเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษของเวียดนาม ที่ติดกับชายแดน สปป.ลาว ทั้งนี้ โครงการ EWEC ได้รับเงินทุนจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) และรัฐบาลญี่ปุ่น

ทั้งนี้ ด้าน นายดาโต๊ะ ตันไทฮิง เอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำนครหลวงเวียงจันทน์ แสดงความมั่นใจว่า "โครงการเชื่อมต่อรถไฟในครั้งนี้ ต้องการช่วยเหลือ สปป.ลาวให้เปลี่ยนจากประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล (Land Lock) ให้กลายเป็นประเทศที่มีทางเชื่อมต่อทางบกไปถึงท่าเรือของเวียดนาม อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงภูมิภาค (Land Link) ที่สามารถเชื่อมต่อทั้งอินเดียและจีนไปยังอาเซียนได้ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมภาคการนำเข้าและส่งออกของ สปป.ลาว"

กลุ่มบริษัท Giant Consolidate ได้รับอนุญาตจากรัฐบาล สปป.ลาว ให้ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการโดยละเอียดเมื่อปี 2551 และได้รับสัมปทานเป็นเวลา 50 ปี ตั้งแต่ปี 2555 โดยบริษัทนี้จะเป็นผู้ลงทุนโครงการนี้ 100% และมีสิทธิ์บริหารโครงการเป็นเวลา 50 ปี จากนั้นต้องโอนโครงการให้เป็นของรัฐบาลลาวต่อไป

ทางการ สปป.ลาว และกลุ่มผู้ลงทุนเชื่อมั่นว่า โครงการรถไฟเชื่อมต่อจากสะหวันนะเขต-เมืองลาวบาว จะเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ที่มีสปป.ลาวเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อด้านคมนาคมขนส่งระหว่างไทย-เวียดนาม-เมียนมาร์ อีกทั้งยังก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมหาศาลทั้งด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว

นอกจากเส้นทางขนส่งเชื่อมกับเวียดนามแล้ว สปป.ลาวยังมีความคืบหน้าในการสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อกับจีนเช่นกัน ซึ่ง นายสมสะหวาด เล่งสะหวัด รองนายกรัฐมนตรีของลาว ยืนยันว่า ขณะนี้ยังมีการเจรจาโครงการก่อสร้างรถไฟ สปป.ลาว-จีนอย่างต่อเนื่อง โดยทั้งสองฝ่ายมีการวางแผนแบบการก่อสร้างร่วมกัน รวมถึงเจรจาข้อตกลงเกี่ยวกับสัดส่วนการลงทุนและการบริหารร่วมกัน ตลอดจนแหล่งเงินทุนในการก่อสร้างครั้งนี้ด้วย

โดยรัฐบาล สปป.ลาวคาดว่า การเจรจาดังกล่าวจะแล้วเสร็จทุกกระบวนการในเดือนมิถุนายนปีนี้ ซึ่งรัฐบาลจีนจะลงทุนในโครงการนี้ประมาณ 840-1,260 ล้านดอลลาร์ และเตรียมขอสินเชื่อจากธนาคารของรัฐวิสาหกิจจีนอีกราว 5,000 ดอลลาร์

ด้าน นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน เผยว่า การเจรจาครั้งล่าสุดจะมุ่งไปที่ความร่วมมือในการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งรัฐบาลทั้งสองประเทศจะได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มที่และเท่าเทียมกัน อีกทั้งยังหารือเกี่ยวกับความเหมาะสมของรูปแบบรถไฟที่เอื้อประโยชน์ต่อการขนส่งเป็นสำคัญด้วย

เป็นที่สังเกตว่าสองประเทศมหาอำนาจในเอเชียอย่างญี่ปุ่นและจีน พยายามหยิบยื่นเงินทุนเพื่อพัฒนาให้ สปป.ลาวเป็นศูนย์กลางแห่งการเชื่อมโยง ซึ่งแน่นอนว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ สปป.ลาวและประเทศใกล้เคียง โดยโครงการก่อสร้างทางรถไฟจะเป็นเหมือนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

อย่างไรก็ตาม การพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสของ สปป.ลาว จาก "Land Lock" สู่ "Land Link" ภายใต้การแย่งชิงอิทธิพลและภายใต้ผลประโยชน์ อาจสร้างปัญหาให้แก่ สปป.ลาว และบั่นทอนความเป็นหนึ่งเดียวในอาเซียน ซึ่งมีทั้งประเทศที่ถือหางญี่ปุ่นและเข้าข้างจีน งานนี้คงต้องจับตามองให้ดี

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

powered by social2s

สาวสวยน่ารัก สปป.ลาว

มาสด้าปากเซ
เรียน autocad ที่ลาว
รับทำแฟนเพจลาว
ทัวร์ลาว นำเที่ยวลาว รถตู้ไปลาว

Go to top